กฎหมายอาญา (Criminal  Law)

Justicia Restaurativa  > Law >  กฎหมายอาญา (Criminal  Law)
0 Comments
กฎหมายอาญา

กฎหมายอาญา (Criminal  Law) เป็นกฎหมายที่จะกำหนดเรื่องความผิด  และบทลงโทษไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ  เพราะรัฐมีหน้าที่รักษาความสงบของบ้านเมือง  กฎหมายอาญาจึงกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎรซึ่งกระทำความผิดขึ้น

ลักษณะที่สำคัญของกฎหมายอาญา

1. ส่วนที่บัญญัติถึงความผิด  หมายความว่าได้บัญญัติถึงการกระทำ  และการงดเว้นกระทำการอย่างใดเป็นความผิดอาญา

2. ส่วนที่บัญญัติถึงโทษ  หมายความว่าบทบัญญัตินั้น ๆ นอกจากจะได้ระบุว่าการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิดแล้ว  ต้องกำหนดโทษอาญาสำหรับความผิดนั้น ๆ ไว้ด้วย

หลักเกณฑ์สำคัญของประมวลกฎหมายอาญา  

1. จะไม่มีความผิดโดยไม่มีกฎหมาย  หมายความว่า  กฎหมายอาญาจะใช้บังคับได้เฉพาะการกระทำซึ่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนี้ถือว่าเป็นความผิด  ถ้ากฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำไม่ถือว่าเป้ฯความผิดแล้ว  จะถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดไม่ได้  และจะลงโทษกันไม่ได้  หลักเรื่องกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังนี้  กฎหมายไม่ให้ย้อนหลังก็เฉพาะที่จะเป้ฯผลร้ายแก่ผู้กระทำความผิดเท่านั้น  เช่น  การกระทำความผิดใดที่ล่วงเลยการลงโทษ  หรือล่วงเลยอายุความฟ้องร้อง  แม้จะได้มีกฎหมายใหม่บัญญัติกำหนดอายุความมากขึ้นกว่าเดิม  ก็จะเอาตัวผู้กระทำมาฟ้องร้องลงโทษไม่ได้  แต่หากกฎหมายใหม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมากกว่ากฎหมายเก่าเช่นนี้  กฎหมายก็ให้มีผลย้อนหลังได้  เช่น ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 3 บัญญัติว่า  “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด  ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด…”

2. จะไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย คือบุคคลจะต้องรับโทษต่อเมื่อมีกฎหมาย ที่ใช้อยู่ในขณะกระทำบัญญัติให้ต้องรับโทษนั้น ๆ เช่น การกระทำความผิดที่มีแต่โทษปรับ ศาลก็ลงโทษได้แต่โทษปรับ ศาลจะลงโทษจำคุกซึ่งไม่ใช้โทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้

3. จะต้องตีความกฎหมายอาญาโดยเคร่งครัด กล่าวคือ กรณีที่ถ้อยคำของกฎหมายเป็นที่น่าสงสัย จะตีความโดยขยายความไปลงโทษหรือเพิ่มโทษผู้ต้องหาไม่ได้ แต่อาจตีความโดยขยายความให้เป็นผลดีแก่ผู้ต้องหาได้ ฉะนั้น หลักเกณฑ์ของกฎหมายอาญาจึงเกิดโดยตรงจากตัวบทเท่านั้น และการตีความบทบัญญัติทั้งหลายนั้นก็จะต้องตีความโดยเคร่งครัด กล่าวคือ การกระทำที่ถูกกล่าวหาเป็นความผิดนั้น และการตีความบทบัญญัติทั้งหลายนั้นก็จะต้องตีความโดยเคร่งครัด กล่าวคือ การกระทำที่ถูกกล่าวหาเป็นความผิดนั้น จะต้องอยู่ในความหมายตามปกติธรรมดาของถ้อยคำทั้งหลายที่ใช้ในกฎหมายนั้น จะขยายถ้อยคำเหล่านั้นออกไปไม่ได้

4. การอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย  ในกรณีที่ประมวลกฎหมายอาญาหรือพระราชบัญญัติอื่นที่บัญญัติความผิดและโทษไม่มีบัญญัติไว้  ซึ่งเรียกว่าช่องว่างแห่งกฎหมายนั้น  ศาลจะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้  แต่ศาลอาจอุดช่องว่างแห่งกฎหมายเพื่อให้เป็นผลดีแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้