กฎหมายแพ่ง (civil law)

Justicia Restaurativa  > Law >  กฎหมายแพ่ง (civil law)
0 Comments
กฎหมายแพ่ง

กฎหมายแพ่ง (civil law) เป็นกฎหมายที่วางระเบียบความเกี่ยวพันระหว่างบุคคลเกี่ยวกับสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมาย เช่น กฎหมายว่าด้วยนิติกรรม เอกเทศสัญญา ทรัพย์สิน ครอบครัว มรดก แต่งงาน เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างเอกชนในฐานะที่ทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน แม้รัฐจะเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้จัดการบังคับให้เป็นไปตามคำเรียกร้องของฝ่ายที่เสียหาย แต่เมื่อบังคับได้แล้วก็จัดการคืนให้แก่ผู้เสียหาย กฎหมายประเภทนี้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายแพ่งที่ควรทราบ ได้แก่ กฎหมายแพ่งเกี่ยวกับบุคคล กฎหมายแพ่งเกี่ยวกับนิติกรรมสัญญา และกฎหมายแพ่งลักษณะครอบครัว

กฎหมายแพ่งเกี่ยวกับบุคคล 

                1. บุคคลธรรมดา คือ มนุษย์ที่เกิดจากครรภ์มารดา เมื่อผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาและชีวิตอยู่รอดเป็นทารก กฎหมายถือว่าผู้นั้นมีสภาพบุคคล

                2. นิติบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร หรือทรัพย์สินที่จัดสรรไว้เป็นกองทุนเพื่อดำเนินกิจการอันใดอันหนึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติไว้นอกจากนี้นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่โดยสภาพจะพึงมีเป็นไปเฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์การบริหารส่วนจังหวัด บริษัท สมาคม เป็นต้น

กฎหมายแพ่งเกี่ยวกับนิติกรรมสัญญา 

                นิติกรรม หมายถึง การกระทำของบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายและใจสมัคร มุ่งผลในกฎหมายที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสิทธิ เปลี่ยนสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ หรือระงับสิทธิ เช่น สัญญาขาย สัญญาซื้อ สัญญาจ้าง พินัยกรรม เป็นต้น นิติกรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. นิติกรรมฝ่ายเดียว ได้แก่ นิติกรรมที่เกิดขึ้น โดยการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายเดียวและมีผลตามกฎหมาย เช่น การก่อตั้งมูลนิธิ การทำพินัยกรรม เป็นต้น

2. นิติกรรมสองฝ่าย ได้แก่ นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไปโดยใจสมัคร เช่น สัญญาซื้อขาย เช่าซื้อ จำนอง จำนำ กู้ยืม ค้ำประกัน เป็นต้น

กฎหมายแพ่งเกี่ยวกับครอบครัว

ครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญของสังคม ความสัมพันธ์เริ่มแรกของการเป็นคู่สมรสเพื่อก่อเป็นครอบครัวต่อไปอาจเริ่มขึ้นด้วยการหมั้น หากแต่การหมั้นนั้นมิได้เป็นเงื่อนไขของการสมรสแต่อย่างใด ซึ่งการที่ชายและหญิงมีการหมั้นกันถือเป็นเรื่องของความสมัครใจและประเพณีนิยมเท่านั้น

1. การหมั้น คือ สัญญาที่ฝ่ายชายทำไว้แก่ฝ่ายหญิงโดยชอบด้วยกฎหมายว่าจะสมรสกับหญิงนั้น และได้ให้ของหมั้นไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะทำการสมรสด้วย การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปี บริบูรณ์ ผู้เยาว์ทำการหมั้นต้องได้รับการยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์เสียก่อน 

2. การสมรสคือ การที่ชายและหญิงยินยอมที่จะอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาตามประเพณีหรือวัฒนธรรมของแต่ละสังคม ซึ่งต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ทั้งนี้การสมรสจะสมบูรณ์ตามกฎหมายต้องมีการจดทะเบียนสมรสด้วย

3. ความสัมพันธ์เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามี-ภรรยา มี 2 ประเภท คือ

1) สินส่วนตัว หมายถึง ทรัพย์สินที่เป็นการกรรมสิทธิ์ของสามีหรือภรรยาแต่เพียงฝ่ายเดียว  

2) สินสมรส หมายถึง ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของสามีและภรรยา